วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระอาจารย์ ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ พัทลุง

"เท่าที่ค้นพบจากพงศาวดาร และจากคำบันทึกของพระเจ้าของตำรา พระอาจารย์ทุกองค์ในสำนักวัดเขาอ้อมีความรู้ความสามารถในทางไสยศาสตร์ให้แก่ทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นเจ้าเมือง และนักรบมาแต่ครั้งโบราณ เริ่มตั้งแต่สมัยศรีวิชัยตลอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พระอาจารย์ที่ปรากฏองค์ที่ 1 ชื่อ พระอาจารย์ทอง ในสมัยนั้นทางฟากตะวันตกของทะเลสาบตรงกับวัดพระเกิด ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน ปัจจุบันนี้
ประวัติพระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ

ครั้งนั้นตามพงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าวว่า ยังมีตายาย 2 คน ตาชื่อ สามโม ยายชื่อ ยายเพ็ชร์ ตายายมีบุตรหลานบุญธรรมอยู่ 2 คน ผู้ชายชื่อ กุมาร ผู้หญิงชื่อ เลือดขาว นางเลือดขาวกล่าวว่าเป็นอัจริยะมนุษย์ คือ เลือดในตัวนางมีสีขาว ผิวขาวผิดกับมนุษย์ธรรมดาสามัญ

ตาสามโมเป็นนายกองช้าง หน้าที่จับช้าง เลี้ยงช้างถวายพระยากรงทอง ปีละ 1 เชือก เมื่อบุตรธิดาทั้งสองเจริญวัยพอสมควรแล้ว ตายายจึงนำไปฝากให้พระอาจารย์ทอง วัดเขาอ้อ สอนวิชาความรู้ให้ พบบันทึกในตำราว่าเริ่มนำตัวไปถวายพระอาจารย์ทองเมื่อวันพฤหัสบดี ปีกุน เดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 301 (พ.ศ.1482) จะศึกษาอยู่นานเท่าใดไม่ปรากฏ ทราบแต่ว่าเป็นผู้มีความรู้ทางอยู่ยงคงกระพัน กำบังกายหายตัวและอื่นๆ เป็นอย่างดียิ่ง ต่อมาตายายให้บุตรบุญธรรมทั้งสองแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน พระยากรงทองโปรดให้ไปเป็นเจ้าเมืองชื่อพระกุมารและนางเลือดขาว ตั้งเมืองอยู่ที่บางแก้วฝั่งทะเลสาบตะวันตก ชื่อเมืองตะลุง ได้สร้างวัดและเจดีย์วัดตะเขียน (วัดบางแก้ว ตำบลเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เดี๋ยวนี้)

การที่ให้ชื่อเมืองว่า เมืองตะลุง อาจจะเป็นเพราะว่าเดิมเป็นหลักล่ามช้าง ต่อมาจึงกลายเป็นเมืองพัทลุง พระกุมารและนางเลือดขาวเป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา สร้างวัดวาอาราม พระพุทธรูป พระเจดีย์ ในเขตเมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองตรัง หลายแห่งด้วยกัน เช่น วัดบางแก้ว วัดสทังใหญ่ เมื่อปีพ.ศ. 1493 สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดตรัง 1 วัด สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ พอจะจับเค้ามูลได้ว่าวัดเขาอ้อมีมาก่อนเมืองพัทลุง เพราะกุมารมาศึกษาวิชาความรู้ก่อนเป็นเจ้าเมือง" และยังมีตอนหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องถึง
ประวัติของหลวงพ่อทวด แห่งวัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี แต่ครั้งยังอยู่วัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ว่า

"เมื่อจุลศักราช 991 (พ.ศ.2171) พระสามีรามวัดพะโคะ หรือที่เราทราบกันเดี๋ยวนี้ว่า
หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ซึ่งประชาชนในสมัยนั้นยกย่องถวายนามว่าสมเด็จเจ้าพะโคะ ท่านได้ไปเรียนพระปริยัติธรรม ณ กรุงศรีอยุธยา เป็นผู้แตกฉานในอรรถธรรม ครั้งนั้นยังมีพราหมณ์เป็นนักปราชญ์มาจากประเทศสิงหล (ลังกา) มาตั้งปริศนาปัญหาธรรมที่แสนยาก พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้พระสามีรามเถระแก้ปัญหาธรรมนั้นๆ จนชนะพราหมณ์ชาวสิงหล จึงพระราชทานยศเป็นพระราชมุนี เมื่อกลับมาเมืองพัทลุงได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระรัตนมหาธาตุไว้บนเขาพะโคะ สูง 1 เส้น 5 วา มีระเบียงล้อมรอบพระเจดีย์

ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้นฉลองพระเจดีย์นั้น ท่านอาจารย์เฒ่า วัดเขาอ้อ พัทลุง องค์หนึ่งชื่อ สมเด็จเจ้าจอมทอง ซึ่งคงจะเป็นชื่อที่ยกย่องเช่นเดียวกับสมเด็จเจ้าพะโคะ นำพุทธบริษัทไปในงานฉลองพระเจดีย์ทางเรือใบ แสดงอภินิหารวิ่งเรือใบเลยขึ้นไปถึงเขาพะโคะ ซึ่งไกลจากทะเลมาก ทำให้ประชาชนที่เห็นอภินิหารเคารพนับถือ และปัจจุบันสถานที่ตรงนั้นเรียกกันว่า "ที่จอดเรือท่านอาจารย์วัดเขาอ้อ"

ต่อมา
ท่านสมเด็จเจ้าพะโคะ ให้คนกวนข้าวเหนียวด้วยน้ำตาลโตนด ภาษาภาคใต้เรียกว่า เหนียวกวน ทำเป็นก้อนยาวประมาณ 2 ศอก โตเท่าขา ให้พระนำไปถวายสมเด็จเจ้าจอมทอง วัดเขาอ้อ ครั้นถึงเวลาฉันท่านสมเด็จเจ้าจอมทองสั่งให้แบ่งถวายพระทุกองค์ ศิษย์วัดตลอดถึงพระก็ไม่มีใครที่จะแบ่งได้ เอามีดมาฟันเท่าใดก็ไม่เข้า ทราบถึงสมเด็จเจ้าจอมทอง ท่านสั่งให้เอามาแล้วท่านจึงเอามือลูบ แล้วส่งให้ศิษย์ตัดแบ่งถวายพระอย่างข้าวเหนียวธรรมดา อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จเจ้าจอมทองให้พระนำแตงโมใบใหญ่ 2 ลูก ไปถวายสมเด็จเจ้าพะโคะ พอถึงเวลาฉันก็ไม่มีใครผ่าออก สมเด็จเจ้าพะโคะทราบเข้าก็หัวเราะชอบใจ พูดขึ้นว่า สหายเราคงแสดงฤทธิ์แก้มือเรา ท่านรับแตงโมแล้วผ่าด้วยมือของท่านเองออกเป็นชิ้นๆ ถวายพระ

การแสดงอภินิหารของพระอาจารย์ครั้งโบราณเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ซึ่งมีมากอาจารย์ด้วยกัน ต่อจากนั้นพระอาจารย์วัดเขาอ้อทุกๆ องค์ ได้แสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ตลอดมา จึงเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทุกชั้น เจ้าเมืองพัทลุงทุกคนต้องไปเรียนวิชาความรู้ที่วัดเขาอ้อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น