วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วัดพระธาตุ เมือง นครศรีธรรมราช

ตำนานการสร้างพระบรมธาตุเมืองนคร


ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่กลางใจเมือง ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้ก่อครอบพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งฝังไว้ ณ หาดทรายแก้วแห่งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า นางเหมชาลากับเจ้าทนทกุมาร ผู้เป็นพระราชบุตรีและพระราชโอรสท้าวโกสีหราช แห่งเมืองทนทบุรี ได้นำพระทันตธาตุหนีไปลังกา เมื่อตอนที่ท้าวโกสีหราชเสียเมืองให้แก่ ท้าวอังกุศราช แต่เรือแตกจึงได้พากัน ขึ้นบกที่หาดทรายแก้ว เอาพระทันตธาตุฝังไว้ที่หาดทราย แล้วจึงหลบหนีไป ต่อมา พระอรหันต์ชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ มาโดยนภากาศ ได้เห็นรัศมีพระ ทันตธาตุโชติช่วงขึ้นมาจากที่ฝัง จึงได้ลงไปนมัสการและทำนายว่า ในอนาคตสถานที่นี้จะมีพระยาองค์หนึ่ง มาตั้งเป็นเมืองใหญ่


ในกาลต่อมา พระยาศรีธรรมาโศกราช ได้ทรงก่อพระมหาธาตุสูง ๓๗ วา ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. ๑๐๙๘ แล้วได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น ตามหลักฐานทางพงศาวดารและทางโบราณคดี พบว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์ ที่เป็นใหญ่อยู่ที่เมืองตามพรลิงค์ ได้ย้ายเมืองมาสร้างใหม่บนหาดทรายแก้ว เมื่อปี พ.ศ. ๑๖๒๐ พร้อมกับทรงสร้างพระบรมธาตุขึ้นไว้กลางเมือง พระองค์จึงได้เฉลิมพระนามใหม่ว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช เพราะทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดุจดังพระเจ้าธรรมาโศกราชของอินเดีย


ตามที่กล่าวจารึกไว้ในศิลาจารึก หลักที่ ๒๔ ด้วยเหตุนี้ เมืองที่สร้างใหม่ ณ หาดทรายแก้วดังกล่าวจึงมีชื่อว่า นครศรีธรรมราช และเรียกกันในทางพระพุทธศาสนาว่าปาฏลีบุตรนคร จากศิลาจารึกบนเกาะลังกา มีความว่าในปี พ.ศ. ๑๗๙๐ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ทรงยกทัพเรือไปรบลังกา ได้ชัยชนะ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช นี้คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๕ เมื่อกลับจากลังกาแล้ว ก็ได้ให้ช่างก่อพระเจดีย์แบบลังกา สวมทับพระธาตุองค์เดิมที่เป็นแบบศรีวิชัย ทำให้พุทธศาสนาฝ่ายมหายานหมดไปจากนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๘๑๕ ขุนอินทาราได้รับแต่งตั้งจากกรุงอโยธยา ให้มากินเมืองนครศรีธรรมราช ขุนอินทาราได้ดำเนินการให้พระเถระเจ้าเมืองต่าง ๆ รวมทั้งคฤหบดีรับงานเสริมสร้างพระบรมธาตุ ที่ยังสร้างไม่เสร็จมาแต่เดิมจนเสร็จ มีพระระเบียงและกำแพงล้อมรอบ พระบรมธาตุเรียบร้อย ทางกรุงอโยธยาจึงเลื่อนขุนอินทาราขึ้นเป็น พระศรีมหาราชา


สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในสาส์นสมเด็จว่า พระมหาธาตุองค์เดิม เหมือนกันกับพระมหาธาตุไชยา พระสถูปที่เป็นพระมหาธาตุปัจจุบัน พวกลังกามาสร้างครอบพระมหาธาตุเดิมในภายหลัง เมื่อมีการซ่อมวิหารพระม้า ได้ขุดพื้นลงไปพบบรรไดพระธาตุเดิมอยู่ใต้ดิน เป็นอีกองค์หนึ่งต่างหาก


งานประเพณีประจำปี


งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ กระทำปีละสองครั้งคือ ในวันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา เริ่มด้วยการนำผ้าเป็นแถวยาวมาก แล้วพากันแห่ผ้านั้นไปยังวัดพระมหาธาตุ กระทำทักษิณาวรรตองค์พระธาตุเจดีย์สามรอบ แล้วจึงนำไปยังวิหารม้า ซึ่งจะมีบันไดขึ้นสู่ภายในกำแพงแก้วล้อมรอบพระบรมธาตุเจดีย์ แล้วนำผ้าไปโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์


ตามตำนานมีว่า ประมาณปี พ.ศ. ๑๗๗๓ พระเจ้าธรรมาศรีโศกราช และพระญาติ รวมสามองค์ กำลังจะสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบใหญ่และยาวผืนหนึ่ง ขึ้นมาที่ชายหาดปากพนัง บนผืนผ้ามีภาพเขียนเรื่องพระพุทธประวัติ เรียกว่า พระบต ชาวบ้านได้นำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผ้าผืนดังกล่าวเป็นของพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำไปบูชาพระเขี้ยวแก้วที่ลังกา แต่เรือโดนพายุล่มที่ชายฝั่งเมืองนคร พระองค์ได้นำผ้าผืนนั้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงเกิดเป็นประเพณี มาจนถึงทุกวันนี้


ประเพณีตักบาตรธูปเทียน กระทำในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปด เวลาบ่ายประมาณ ๑๔.๐๐ น. เป็นต้นไป พระภิกษุสงฆ์จากวัดต่าง ๆ มาพร้อมกันที่วัดพระมหาธาตุ ฯ ยืนเป็นแถวยาวที่หน้าวิหารทับเกษตร ชาวบ้านก็จะนำธูปเทียนใส่ในย่ามพระไปตามลำดับทุกรูป เสร็จแล้วก็ไปจุดเปรียง บริเวณหน้าพระพุทธรูปและฐานเจดีย์ทุกฐาน เพื่อเป็นพุทธบูชา


พระธาติเมืองนครกับพระเจ้าจันทรภาณุ


พ.ศ. 854 เจ้าชายทนทกุมาร และพระนางเหมชาลาและบาคู (แปลว่า นักบวช) ชาวศรีลังกา ได้สร้างวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช) เจดีย์องค์เดิมเจดีย์แบบศรีวิชัยคล้ายเจดีย์กิริเวเทระ ในเมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา


พ.ศ. 1093 พระเจ้าจันทรภาณุ ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นพร้อมกับการก่อสร้าง เจดีย์ขึ้นใหม่เป็นเจดีย์แบบศาญจิ


พ.ศ. 1770 พระเจ้าจันทรภาณุ ได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ เจดีย์แบบลังกา ทรงระฆังคว่ำ หรือ โอคว่ำ มีปล้องไฉน 52 ปล้อง สูงจากฐานถึงยอดปลี 37 วา 2 ศอก ยอดปลีของปล้องไฉน หุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา (เท่ากับ 2 เมตร) 1 ศอก (เท่ากับ 0.50 เมตร) แผ่เป็นแผ่นหนา เท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่ง (เท่ากับ 960 กิโลกรัม) รอบพระมหาธาตุมีเจดีย์ 158 องค์


พระธาตุไร้เงา


ความอัศจรรย์ของพระบรมธาตุแห่งแดนใต้ที่แม้เงายังมิยอมตกต้องพื้น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐานปูชนีย สถานศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครฯ หรือที่เรียกว่าตามพรลิงค์ในอดีต นอกจากวิหารหลายหลังที่งดงามด้วย งานศิลปะช่างอยุธยาแล้ว ยามแดดตกต้ององค์พระธาตุเจดีย์ เหลื่อมเงากลับทาบทอด ไม่ถึงพื้นพสุธา จนแลคล้ายว่าพระธาตุเจดีย์ยิ่งใหญ่องค์นี้ไร้เงาอย่างน่าอัศจรรย์


เชื่อกันว่า ถ้าหากพระธาตุมีเงาเมื่อไหร่ และเงาตกไปทางทิศไหน ทิศนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ร้ายๆขึ้น อย่างตอนที่เกิดพายุถล่มแหลมตะลุมพุก เมื่อสมัยนู้นก็มีข่าวว่า ก่อนหน้านั้นมีคนเห็นเงาพระธาตุกันหลายคน ส่วนช่วงก่อนเกิดสึนามินี่ก็มีข่าวว่ามีคนเห็นเงาของพระธาตุ


พระธาตุนครกับพุทธศาสนา


พระบรมธาตุเมืองนคร นอกจากจะเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ แห่งคาบสมุทรแดนใต้ที่โดดเด่น ไปด้วยงานพุทธศิลป์แบบลังกาแล้ว ยังมีผู้กล่าวว่าพระบรมธาตุเมืองนครนั้นแฝงไปด้วยธรรมมะนิยาม ในศาสนาพุทธอยู่หลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฐาน 4 ด้านของรัตนเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ 4 มุมนั้นเปรียบดังอริสัจจ์ 4 รูปพระอรหันต์ทั้ง 8 ที่ยืนไหว้รอบพระธาตุ ทั้ง 8 ทิศนั้นแทนความหมายของมรรคมีองค์ 8 ปล้องไฉนที่มีจำนวน 52 ปล้องนั้น มีผู้ตีความว่าหมายถึงอายุเวลาของพระพุทธศาสนา อันเกิดจาก 1+50+1 โดย 1 ตัวแรกหมายถึง ช่วง 1 ศตวรรษของพระพุทธเจ้าสมณโคดม 50 หมายถึง 50 ศตววรษหรือ 5,000 ปี ของอายุพระพุทธศาสนา 1 ตัวหลังหมายถึง 1 ศตวรรษของพระศรีอาริยเมตไตรย


ส่วนปลียอดทองคำนั้น เปรียบได้กับนิพพานในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้คนสมัยก่อนจึงมีความเชื่อว่า หากได้ขึ้นมาเดินเวียนประทักษิณ(3 รอบ) ณ ลานประทักษิณก็เป็นดังการเข้าสู่นิพพานกลายๆ ด้านใครที่อยาก ได้มงคลสูงสุดก็ต้องทำการถวาย ผ้าพระบฏแก่องค์พระธาตุ อันที่มาของประเพณีแห่งผ้า ขึ้นธาตุที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชาของทุกปีนั่นเอง


พระธาตุทองคำ


สำหรับพระบรมธาตุเมืองนครทรงลังกาที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นกลางเมืองนครศรีฯนั้น มีความสูง 55.78 เมตร องค์ระฆังสูง 9.80 เมตร มีปล้องไฉน 52 ปล้อง โดยปลียอดของปล้องไฉนหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม หนาขนาดใบตาล สูงถึง 6 วา 1 ศอก ส่วนรอบพระบรมธาตุองค์หลักก็ยังมีเจดีย์รายรอบเป็นจำนวนมากถึง 158 องค์เลยทีเดียว และด้วยความที่เป็นปลียอดพระธาตุเป็นทองคำเหลืองอร่าม ทำให้พระบรมธาตุเมืองนครได้รับการเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธาตุทองคำ" ซึ่งถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระธาตุไร้เงาอยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะเพื่อนคนเมืองคอน(คนเดิม) มันบอกว่า


ยามเมื่อแสงส่องต้องลงมายังปลียอดที่เป็นทองคำ ก็จะไม่เกิดเป็นเงาดำ หากแต ่จะเกิดเป็นแสง สะท้อนมลังเมลืองขึ้นมา ถือเป็นหนึ่งในเหตุผล (ทางวิทยาศาสตร์)ที่ว่าทำไมยอดของพระธาตุจึงไร้เงา ส่วนการที่องค์พระธาต ุไร้เงานั้น มันบอกว่า ยังเป็นปริศนาที่หาคำตอบไม่ได้อยู่ดี


พระธาตุทรุดเอียง




สำหรับการจะขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุที่ลานประทักษิณ จะต้องเดินขึ้นบันไดในวิหารทรงม้าเข้าไป โดยหน้าประตูทางขึ้น ซ้าย-ขวา จะมีรูปเคารพของท้าวจตุคาม(เท้าขัตตุคาม)และท้าวรามเทพ(เท้ารามเทพ) 2 เทพผู้คอยปกปักรักษาองค์พระบรมธาตุอันเปรียบเสมือนตัวแทน ของพระพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่ เพื่อนคนนครบอกกับผมว่า แต่ก่อนคนมักจะเดินผ่านเทพทั้ง 2 ขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุ แบบไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ จนเมื่อเกิดปรากฏการณ์จตุคามขึ้นมา ก็กลับกลายเป็นว่ามีคนตั้งใจ เดินทางขึ้นไปไหว้เทพทั้ง 2 องค์มากกว่าไปไหว้องค์พระบรมธาตุเสียอีก เรื่องนี้เมื่อ 3 เดือนที่แล้วผมได้มีโอกาสขึ้นไปไหว้องค์พระบรมธาตุบนลาน ประทักษิณมาก็เห็นจริงดังที่มันว่า จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ไอ้เพื่อนนี้มันโทร.มาบอกว่า ทางวัดเขาปิดไม่ให้คนขึ้นไปบนลานประทักษิณแล้ว เพราะบันไดทางขึ้นในวิหารทรงม้าทรุด!!!


แต่นั่นก็ยังไม่หนักหนาเท่ากับ ข่าวการทรุดเอียง ขององค์พระธาตุ อันเกิดมาจากการที่รถบรรทุก บรรทุกวัตถุมงคลวิ่งเข้า-ออก บริเวณลาน วัดอยู่เป็นประจำ ทำให้แรงสั่นสะเทือน จากการ วิ่งส่งผลกระทบต่อองค์พระธาตุ จนเกิดการทรุดเอียงตามที่เป็นข่าว (แม้กรมศิลป์จะออกมาระบุภายหลังว่า องค์พระบรมธาตุเอียงมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ว่าหลังจากกฎห้าม รถบรรทุกวิ่งเข้าเขตวัดก็ทำให้ วัดพระมหาธาตุดูสะอาด เป็นระเบียบและสงบมากขึ้น)


"องค์พระบรมธาตุเมืองนครเป็นสมบัติของชาวพุทธทั้งโลก เป็นสมบัติล้ำค่า ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นมา ทุกคนควรจะหวงแห นและอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน จริงอยู่กาลเวลาอาจจะ ทำให้ชำรุดทรุดโทรมได้ แต่ก็ไม่ควรมาชำรุดทรุดเอียงเพราะคนบางกลุ่มที่เห็นแก่เงิน เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก" เพื่อนคนเมืองคอนถือโอกาสระบาย ความในใจให้ฟัง ซึ่งผมมานึกๆ ดูแล้วก็รู้สึกว่า สงสัยเท้าจตุคามรามเทพ ที่เป็นดังผู้คอยปกปักรักษาองค์พระธาตุ จะต้านทานพลังความโลภของมนุษย์หลายๆคนที่หากินกับ จตุคามรามเทพในยุคนี้ไม่ไหวเสียแล้ว เพราะเหตุนี้องค์พระบรมธาตุถึงได้ทรุดเอียง อันเป็นผลพวงมาจากจิตใจของใครหลายๆคนที่ทรุดเอียง เบี่ยงเบนไปจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น